กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) เพื่อศึกษาพหุปัจจัยเชิงนิเวศวิทยาต่อการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดของหญิงตั้งครรภ์เขตสุขภาพที่ 4 กลุ่มตัวอย่าง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใน 8 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 8 แห่ง เลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ตามเกณฑ์คุณสมบัติ จำนวน 427 ราย ติดตามจนกระทั่งคลอด เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) และการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัย พบว่า หญิงตั้งครรภ์ในเขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 427 ราย เกือบทั้งหมด ร้อยละ 95.55 คลอดครบกำหนด และคลอดก่อนกำหนด เพียงร้อยละ 4.45 (จำนวน 19 ราย) ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 81.5) ปัจจัยที่สามารถร่วมทำนายการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) มาจากปัจจัย 3 ระดับ ทั้งระดับบุคคล ระหว่างบุคคล และระดับองค์กร ที่สามารถเข้าสมการพยากรณ์ ตามค่าน้ำหนักของตัวแปรได้ดังนี้ การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด = 1.804 (ค่าคงที่) + .423(ความรอบรู้ทางสุขภาพการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด) + .320 (ความรู้ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด) +129 (แรงสนับสนุนทางสังคม) +.124 (จำนวนครั้งโรงเรียนพ่อแม่ ) + .096 (อายุ) โดยมีอำนาจทำนายการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ได้ร้อยละ 52.8ข้อเสนอแนะ ควรจัดบริการทางสุขภาพเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดที่ครอบคลุมการจัดการปัจจัยระดับบุคคล ระหว่างบุคคล และระดับองค์กร ที่สำคัญควรสนับสนุนให้หน่วยบริการจัดกิจกรรมพัฒนาความรอบรู้ทางสุขภาพในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์
article_dl386_20241216.pdf |
ขนาดไฟล์ 4MB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |