เด็กไอคิวต่ำ ร้องอุดหนุนงบอาหารคุณภาพ

องค์การยูนิเซฟพบว่าทั่วโลกมีเด็กปฐมวัย 200 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาสติปัญญา ด้านกรมสุขภาพจิตสำรวจไอคิวเด็กนักเรียนไทย ปี 2554 พบว่า ไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานสากล เฉลี่ย 98.59
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้จัดการโครงการภาคใต้ กล่าวว่า จากผลการสำรวจเด็กแรกเกิด-5 ขวบในปี 2551-2552 พบพัฒนาการโดยรวมช้ากว่าวัยร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทุกด้านช้า สอดคล้องกับการที่กรมสุขภาพจิตสำรวจไอคิวเด็กนักเรียนไทย ปี 2554 พบว่า ไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานสากล เฉลี่ย 98.59 ขณะที่เด็กจังหวัดสงขลามีไอคิว 98.64 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ
ทั้งนี้องค์การยูนิเซฟได้วิเคราะห์ปัญหาพบว่าทั่วโลกมีเด็กปฐมวัย 200 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาสติปัญญาความสามารถ เนื่องจากปัจจัย 4 ประการ คือ 1.ภาวะทุพโภชนาการ 2.การขาดสารไอโอดีน 3.โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และ 4.ขาดการเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่กระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม
"ผลกระทบถ้าเด็กมีภาวะทุพโภชนาการรุนแรง เตี้ย ผอม ในวัยเด็กเล็ก จะทำให้คะแนนไอคิวของเด็กอายุ 8-10 ปีหายไป 3-10 จุด เป็นผู้ใหญ่ที่มีไอคิวต่ำ 1-3 จุด เด็กที่ขาดสารไอโอดีนเรื้อรัง คะแนนไอคิวจะหายไป 12-13.5 จุด ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ในทารกและปฐมวัย อาจทำให้ไอคิวลดได้ 5-10 จุด ในเด็กโตลด 0.4 จุด รวมทั้ง อ่อนเพลีย ซึม ไม่มีสมาธิและความจำไม่ดี" รศ.พญ.ลัดดากล่าว
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยยังคงมีปัญหาผอม อ้วน เตี้ย ไอคิวต่ำ ซึ่งโภชนาการและอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน ขณะที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้งบประมาณค่าอาหารกลางวันเพียง 13 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งไม่เพียงพอ โดยควรเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคน เพื่อทำให้อาหารกลางวันมีคุณภาพส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด