อาหารหวานและอาหารที่มีไขมันสูง เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ เพราะอาหารหวานทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ส่งสัญญาณถึงความอยู่รอด ขณะที่ไขมันคือ แหล่งสะสมพลังงานยามขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ความเจริญทางอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ในปัจจุบันบริโภคอาหารหวานและอาหารมันมากเกินไป ผลที่ตามมาคือ โรคเรื้อรังที่คุกคามสุขภาพ
"น้ำตาลนอกเซลล์ ที่ไม่ใช่น้ำตาลในนม" ภาษาอังกฤษเรียกว่า NMES (Non-milk extrinsic sugar) หมายถึง น้ำตาลที่ได้จากกระบวนการแปรรูป บีบ คั้น เค้นจากผลผลิตของธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงน้ำตาลที่รู้จักกันโดยทั่วไป
น้ำตาลเป็นแหล่งของ "พลังงานว่างเปล่า" (empty calories) หมายถึง ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่ไร้ซึ่งสารอาหาร การบริโภคน้ำตาลมากเกินไป จึงทำให้ได้รับพลังงานมากเกินแต่ขาดสารอาหาร ในขณะที่อาหารตามธรรมชาติอื่นๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือแปรรูปแต่น้อย ให้ทั้งพลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์ไปพร้อมกัน ดังนั้น เราควรบริโภคน้ำตาลให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี เรามักบริโภคน้ำตาลตามระดับความหวานที่ชอบ คนที่ชอบหวานจัด เมื่อกินอาหารทุกอย่าง เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ชา กาแฟ ก็จะเติมน้ำตาลจนหวานจัด ขณะที่คนที่ไม่ชอบรสหวาน เมื่อกินอาหารทุกอย่างจะไม่เติมน้ำตาล
ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญจึงไม่ได้หมายถึงแค่การลดการบริโภคของหวาน หรือเครื่องดื่มหวานเท่านั้น แต่เป็นการลดระดับของความหวานที่รู้สึกชอบ (threshold) ซึ่งสามารถทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ใจเย็นๆ อย่าหักดิบกับตัวเอง จากที่เคยเติมน้ำตาลในกาแฟ 2 ช้อน ลองลดเหลือ 1 ช้อนครึ่ง ระยะแรกอาจรู้สึกแปลกๆ ให้เวลากับตัวเอง 2-3 เดือน จะเริ่มชิน เมื่อชินแล้ว กลับไปเติม 2 ช้อน จะรู้สึกว่าหวานเกินไป จากนั้นค่อยๆ ลดอีกเป็น 1 ช้อน ลดลงเรื่อยๆ จนไม่ต้องเติมน้ำตาลในที่สุด
ผู้ที่ชอบกินแยม หรือซอสรสหวานต่างๆ สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ เช่น จากที่ใส่แยม 3 ช้อน กับขนมปัง 1 แผ่น สามารถค่อยๆ ลดลงทีละครึ่งช้อน จนเหลือแค่ช้อนเดียว ประหยัดเงินและไม่เสียสุขภาพ และอย่าลืมเลือกแยมแบบไม่เติมน้ำตาล หรือน้ำตาลต่ำด้วย
ส่วนน้ำตาลเทียม มีประโยชน์และแนะนำให้ใช้เพื่อกระบวนการปรับลดระดับความหวาน โดยสามารถใช้น้ำตาลเทียมทดแทนปริมาณน้ำตาลได้ เป้าหมาย คือ ค่อยๆ ลดระดับความหวานที่ชอบ ไม่ใช่ชอบระดับความหวานเท่าเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้น้ำตาลเทียมแทน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้น้ำตาลเทียมในอาหารทุกชนิดที่กิน แล้วคงระดับความหวานที่พอใจ และอย่าพึงไว้ใจสิ่งที่ไม่ใช่ของธรรมชาติ
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/